นโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล
หน้าแรก / นโยบายธรรมาภิบาลข้อมูลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6 นโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(Data Governance Policy)
เพื่อให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล และการบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ข้อมูลมีคุณภาพ ถูกต้อง ครบถ้วน มั่นคงปลอดภัย และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องด้วยความเรียบร้อยรวมทั้งการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามของการบริหารจัดการข้อมูลตลอดจนให้เกิดความสอดคล้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ และกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
หลักการ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีพันธกิจ ที่เกี่ยวข้องกับด้านธรรมาภิบาลข้อมูล
1. พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสังคมฐานความรู้ บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรมและหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนและร่วมสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม
2. สร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการและนวัตกรรม โดยมีการวิจัยเป็นฐานเพื่อการพัฒนาภาคใต้ และประเทศ เชื่อมโยงสู่สังคม และเครือข่ายสากล
3. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะทางวิชาการและวิชาชีพ ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่ปัญญา จิตสาธารณะ และมีทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถประยุกต์ความรู้บนพื้นฐานประสบการณ์จากการปฏิบัติ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีนโยบายข้อมูล (Data Policy) ที่สนับสนุนการดำเนินงานการบริหารจัดการข้อมูลภายใต้กรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐกับนโยบายและระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2. เพื่อกำหนดขอบเขตของระบบบริหารและจัดการข้อมูลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยอ้างอิงตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐและมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
3. เพื่อกำหนดมาตรฐาน แนวทางปฏิบัติและวิธีการปฏิบัติให้แก่ผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลข้อมูล การบริหารจัดการข้อมูลและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและเหมาะสม
4. เพื่อใช้เป็นหลักในการพัฒนาและปรับปรุงธรรมาภิบาลข้อมูล และการบริหารจัดการให้มีคุณภาพการใช้ประโยชน์ และมีความมั่นคงปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล
ขอบเขต
1. การจัดทำนโยบายการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลข้อมูลมีขอบเขตครอบคลุมวงจรชีวิตของข้อมูล (Data Life Cycle) กระบวนการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Process) โดยดำเนินงานให้สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2. นโยบายข้อมูลนี้มีผลบังคับใช้กับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใช้ข้อมูล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักศึกษา บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยต้องเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ และต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและเหมาะสม
3. ต้องมีการดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติเพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติตามความเหมาะสม
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลทุกส่วนมั่นใจได้ว่าข้อมูลจะถูกใช้และจัดการได้อย่างสอดคล้องกับกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ มั่นคงปลอดภัย และเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นโยบาย
1.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูล แต่งตั้งคณะบริกรข้อมูล และกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ในการบริหารจัดการข้อมูล
1.2 กำหนดหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลในการบริหารจัดการข้อมูล ในแต่ละชุดข้อมูล
1.3 กำหนดมาตรฐานข้อมูล (Data Standard) และระเบียบปฏิบัติมาตรฐานและการบริหารจัดการคำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) ครอบคลุม บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบกระบวนการจัดทำคำอธิบายชุดข้อมูลการควบคุมดูแลและสอบทานคำอธิบายชุดข้อมูล
1.4 กำหนดคำนิยามข้อมูล (Data Definition) ขอบเขตและลักษณะข้อมูล (Scope of Data) และลักษณะข้อมูล (Format of Data) ที่ครอบคลุมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และชุดข้อมูล
1.5 จัดทำนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูลที่ประกอบไปด้วย นโยบายคุณภาพข้อมูล (Data Quality Policy) นโยบายการเชื่อมโยงข้อมูลและการแบ่งปัน (Data Integration and Sharing Policy)นโยบายการจัดชั้นความลับข้อมูล (Data Classification Policy) นโยบายความเป็นส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูล (Data Privacy and Security Policy) และนโยบายการเปิดเผยข้อมูล (Open Data Policy)
1.6 จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลตลอดวงจรชีวิตของข้อมูล (Data Life Cycle) ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการสร้างข้อมูล (Data Creation) การจัดเก็บข้อมูล (Data Storage) การใช้ข้อมูล (Data Usage) การเผยแพร่ข้อมูล (Data Dissemination) การจัดเก็บข้อมูลถาวร (Data Archival) และการทำลาย (Data Destruction) นโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Policy)
1.7 จัดให้มีกระบวนการในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านข้อมูล และสอดคล้องตามการบริหารความเสี่ยงของหน่วยงานเพื่อให้มีการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี สอดคล้องกับชั้นความลับและความพร้อมใช้
1.8 กำหนดให้มีการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก
1.9 จัดให้มีการฝึกอบรม การสื่อสารเผยแพร่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงธรรมาภิบาลข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูล โดยให้ครอบคลุมการบริหารจัดการทุกกระบวนการวงจรชีวิตของข้อมูล
1.10 จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน ทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุงนโยบายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
